สิวและการดูแลรักษา



สิว
คือ การอักเสบเรื้อรังของท่อรูขุมขนและต่อมไขมันซึ่งพบได้บ่อย อาจหายได้เอง
มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ หัวขาวหรือดำ เป็นตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง หรือ ตุ่มเนื้อลึกใต้ผิวหนัง พบมาก บริเวณหน้า คอ หน้าอก หลัง ไหล่ หรือ ต้นแขน
มักเป็นในหมู่วัยรุ่น แต่ไม่ได้จำกัดอยู่เท่านั้น ผู้ใหญอายุ่ 20 - 50 ปีก็พบได้
ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงอาจมีการเจ็บปวดตามผื่น แม้ว่าสิวจะไม่ใช่โรคที่ทำให้เสียชีวิตหรือพิการ
แต่ก็่อาจทิ้งร่องรอยของแผลเป็นบนผิวหน้าเกิดเป็นปมด้อยไปตลอดชีวิตได้
ฮอร์โมนเพศชายซึ่งมีทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เป็นตัวการสำคัญที่ไปกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้โตขึ้น และทำงานมากขึ้น สารไขมันที่ถูกผลิตขึ้นจะถูกขับออกทางรูขุมขน ทำให้เกิดการกระตุ้นเนื้อเยื่อบริเวณรูปิดของรูขุมขน ให้หนาตัวขึ้น และเกาะตัวกันแน่นทำให้รูขุมขนนั้นอุดตัน เชื้อแบคทีเรียในรูขนจะเจริญเติบโตแบ่งตัวและปล่อยสารพิษต่างๆจากรูขุมขนออกสู่เนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มนูนแดงหรือเป็นหนองขึ้น
สิวแบ่งเป็น 2 ชนิด

1. สิวอุดตัน หรือสิวไม่อักเสบ เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน (Comedone) แบ่งเป็น 2 ชนิด

1.1 สิวหัวปิด (Closed comedone or White head)เห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ หัวขาว ๆ

1.2 สิวหัวเปิด หรือสิวหัวดำ (Open comedone or Black head)


2. สิวอักเสบ คือสิวที่หัวแดง ๆ หรือ เป็นหนอง พวกนี้ก็คือสิวอุดตัน(Comedone)ที่ไม่ได้รักษาและมีการติดเชื้อ(Bacteria)แทรกซ้อน ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมา

สาเหตุและปัจจัยชักนำที่ทำให้เกิดสิว

1. รูเปิดและท่อทางเดินของต่อมไขมันอุดตัน (Ductal hypercornification) ดังนั้นจึงมักพบว่าผู้ที่มีใบหน้ามัน ผมมัน หรือหนังศีรษะมัน มักจะเกิดสิวได้ง่ายกว่าผู้ที่มีใบหน้าแห้ง

2. แบคทีเรีย ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก P. acnes บางชนิดเกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อน

3. ช่วงใกล้มีประจำเดือน (Premenstrual) ส่วนใหญ่ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จะมีโอกาสเกิดสิวมากกว่าปกติเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

4. เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว และผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าต่างๆ บางคนใช้เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวหลายชนิดมากจนเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง ทำให้ท่อทางเดินต่อมไขมันอักเสบและอุดตันทำให้เกิดสิวขึ้นได้

5. กรรมพันธุ์ เชื่อว่ากรรมพันธ์มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างในการทำให้เกิดสิว บางคนมีคุณพ่อหรือคุณแม่ ที่เคยเป็นสิวมากๆ จนทำให้เกิดรอยแผลเป็นลูกๆ ก็มีโอกาสเป็นสิวมากเช่นเดียวกัน

6. ยาบางชนิด สามารทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ เช่น ยาคุมกำเนิด, ยาจำพวกสเตียรอยด์ ทั้งแบบชนิดกินและชนิดทา, ฮอร์โมนเพศชาย (androgen) เป็นต้น 7. ความเครียดวิตกกังวล ความเครียดเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค ทางด้านผิวหนัง นอกจากจะทำให้แก่เกินวัยแล้วยังทำให้เกิดสิวได้ง่ายเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าท่านทำงานหนักมากเกินไป เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก จะเกิดสิวได้ง่าย

8.การถู ขัดหน้า พอกหน้า การถู ขัดหน้า พอกหน้า อบไอน้ำ พอกสมุนไพร บำรุงผิวสารพัดแบบนั้น ถ้าทำมากเกินไปบ่อยครั้งเกินไป จะทำให้ตัวคลุมผิวตามธรรมชาติ (skin barrier) หลุดลอกออกไป ผิวหน้าจะบางลง และไวต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง อักเสบ เกิดเป็นสิวมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
9.อาหาร หลายคนเชื่อว่าช็อกโกแลตมีส่วนทำให้เกิดสิวได้ ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกัน ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวที่ทำให้เกิดสิวมากขึ้นได้ เช่น พวกเหล้า เบียร์ต่างๆ เพราะทำให้สุขภาพทรุดโทรมสิวจึงเห่อขึ้นได้
10.อากาศร้อน ถ้าคนที่อยู่ในอากาศร้อนและมีเหงื่อมาก มีโอกาสเกิดสิวได้ง่ายกว่าที่มีอากาศเย็นๆฯลฯ
การรักษาสิว
หลักในการรักษาสิวนั้นต้องรักษาทั้งด้านจิตใจ, ตัวสิวเอง และร่องรอยจากสิว ควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญผู้ที่เป็นสิวควรจะทราบว่าสิวต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อยประมาณ 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจใช้เวลารักษานานถึง 12 เดือน

1. กลุ่มยาทา -กลุ่มยาทาปฏิชีวนะ เช่น 1% Clindamycin, 2% Erythromycin -กลุ่มยาทาก่อนล้างหน้า เช่น 2.5% Benzoyl peroxide, Benzac, Brevoxyl -กลุ่มยาทากรดวิตามินเอ เช่น Retin-A, Stieva, Isotrex, Brevoxyl -กลุ่มยาทาละลายขุย เช่น Salicylic acid lotion, Sulphur lotion-กลุ่มอื่นๆ เช่น Differin, Skinoren

2. กลุ่มยารับประทาน -กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่ใช้ได้ผลดีคือ Tetracycline, Doxycycline, Minocycline, Erythromycin และ Bactrim-กลุ่มยากรดวิตามินเอ บางคนเรียกว่า ยาเม็ดรักบี้เพราะรูปร่างคล้ายเม็ดรักบี้ คือ ยาRoaccutane (Isotretinoin)ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งให้ต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ต่อมไขมันมีจำนวนและขนาดเล็กลง สิวจึงลดน้อยลงได้ แต่มีผลข้างเคียงหลายประการ เช่น มีผลต่อเด็กในครรภ์ได้จนอาจพิการได้ ทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น ริมฝีปากแห้งมาก ฯลฯ ยานี้เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีในการรักษาสิวที่เป็นรุนแรงและรักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อรับประทานเองเด็ดขาด-ยากลุ่มฮอร์โมน ได้แก่ ยา Diane 35 ใช้ได้ผลดีเช่นกัน แต่ใช้ในผู้หญิงที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น ร่วมกับมีข้อบ่งชี้เช่น ผิวมัน เสียงห้าว ขนดก และประจำเดือนผิดปกติ

3. การฉีดยารักษาสิว (Intralesional Kenacorte) ในกรณีที่เป็นสิวหัวช้าง เม็ดใหญ่มาก ที่เป็นรุนแรง (cystic acne) แพทย์อาจใช้วิธีฉีดยา เข้าไปที่หัวสิวได้เลยโดยตรง ซึ่งจะทำให้สิวยุบหายค่อนข้างเร็วมากภายใน 24 ชม. แต่ค่อนข้างเจ็บพอสมควร วิธีนี้ถ้าไม่ชำนาญหรือฉีดยามากเกินไปอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดเป็นรอยบุ๋มได้

4. การกดเอาหัวสิวออก (Comedone extraction) ถ้าใช้เครื่องมือที่สะอาดและเทคนิคที่ถูกต้องจะทำให้สิวดีขึ้นเร็วในการรักษานั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมให้ ซึ่งบางคนใช้แต่ยาทาอย่างเดียวก็ได้ แต่บางคนต้องรับประทานยาหรือกดหัวสิวร่วมด้วย เป็นต้น

ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคสิว มีดังนี้

1. การล้างหน้า ควรล้างด้วยสบู่อ่อนๆ เช่น สบู่เด็ก ซึ่งประกอบด้วย สารเคมีที่อ่อน ไม่ระคายเคืองหรือรบกวนผิวซึ่งทำให้เกิดคอมมีโดนหรือสิวอุดตัน หรือเลือกสบู่อ่อนที่ใช้สารเคมีที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดสิว

2. ไม่ควรล้างหน้า หรือเช็ดหน้าบ่อยๆ ล้างเพียงวันละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ

3. ไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่มีผลต่อการทำงานของผิวหนังและต่อมไขมัน เช่น ครีมบำรุงผิว ครีมนวดหน้า ครีมแก้รอยเหี่ยวย่นที่มีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรเลือกครีมหรือสารที่ให้ความชุ่มชื้นซึ่งมีส่วนประกอบเป็นสารเคมี ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว โดยทั่วไปชุดเมคอัพ เช่น ลิปสติก แป้ง บรัชออน มาสคาร่า อาขแชโดว และชุดรองพื้น จะไม่ก่อให้เกิดสิว

4. อย่าบีบ หรือแกะสิว

5. การใช้ยารักษาสิว ต้องระวังยาที่โฆษณาว่ารักษาได้ทั้งสิวและฝ้า เพราะยาพวกนี้มักผสมสเตียรอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้สิวอักเสบยุบเร็ว แต่มีภาวะแทรกซ้อนมากมาย โดยมีการกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันขึ้นมาใหม่มากกว่าเดิม ทำให้สิวไม่หายขาด

6. กินยาให้ครบและสม่ำเสมอ

7. หากมีปัญหาหรือข้อสงสัยในเรื่องของโรคสิว และแนวทางการรักษา ควรสอบถามจากแพทย์พื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง

การรักษาร่องรอยจากสิว
ได้แก่ รอยดำ รอยแดง แผลเป็นหลุมสิว และแผลเป็นนูน
1. รอยดำสิว เกิดขึ้นตามหลังการหายของสิวอักเสบ มักเป็นอยู่นาน 5-6 เดือนถ้าไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาทาพวก whitening ต่างๆทารอยดำร่วมกับครีมกันแดด บางคนอาจจะต้องทำทรีทเมนต์พวก Iontophoresis หรือ phonophoresis ช่วยก็ได้

2. รอยแดงสิว เกิดตามหลังสิวอักเสบบางส่วน การรักษาค่อนข้างยาก ต้องใช้เลเซอร์ชนิดพิเศษเช่น Pulse dye laser หรือ แสงความเข้มข้นสูง (IPL)
3. แผลเป็นนูน มักจะใช้การฉีดยาพวก steroid เข้าไปเพื่อให้ยุบลง นอกจากนั้นอาจใช้แผ่นปิดพวกซิลิโคนเจล เช่น Cica-care ปิดไว้ หรือยาทาแผลเป็นพวก Mederma เป็นต้น

4. แผลเป็นหลุมสิว รักษายากที่สุด อาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน
การรักษามีหลายวิธี เช่น การแต้มกรด TCA, การลอกผิว (Peeling), การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion), การกรอผิวด้วยเลเซอร์ (Ablative laser resurfacing), การผ่าตัด, การกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนด้วยเลเซอร์หรือ IPL เป็นต้น ส่วนการตัดสินใจว่าควรรักษาด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแผลเป็น ความรุนแรง เครื่องมือที่มี และความชำนาญของแพทย์ผู้ให้การรักษา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เติมไขมันหน้าเด็ก อุดร

DSclinic: introduction

Dual Yellow เลเซอร์รักษาฝ้า รอยสิว